Auntie Anne’s ธุรกิจฝีมือแม่บ้านสติแตก

Auntie Anne’s กำเนิดจากสตรีอเมริกันชาวรัฐเพนซิลเวเนียคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้วิธีทำเพรทเซลมาก่อน จากแม่บ้านที่มีความรู้แค่เกรด 8 เป็นโรคซึมเศร้า ต่อสู้กับความรู้สึกหดหู่ของตัวเองเพื่อให้ผ่านไปแต่ละวันอย่างยากลำบาก

 

 

แอน ไบเลอร์ ไม่คาดคิดหรอกว่าตัวเองจะก้าวไกลขนาดสร้างเฟรนไชส์ขนมเพรทเซลที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมี 1,200 สาขา ใน 26 ประเทศ ทำรายได้กว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

เธอผู้ให้กำเนิดแบรนด์ Auntie Anne’s ยังได้รับเชิญไปสัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ และได้รับรางวัลมากมาย เช่น ผู้ประกอบการแห่งปี และสุดยอด 500 นักธุรกิจของอเมริกา เป็นต้น เรื่องราวที่น่าเอ็นดูคือ วันที่เธอได้รับประกาศนียบัตรจบการศึกษานอกโรงเรียน (ระดับมัธยมปลาย) ตอนที่มีอายุ 50 ปี เป็นช่วงเดียวกับที่เธอได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แม้จะปลื้มปริ่มกับความสำเร็จในการทำธุรกิจ แอนเชื่ออย่างแรงกล้าว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า

จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ Auntie Anne’s จะว่าไปเป็นเรื่องของโชคชะตาและความไม่ตั้งใจ เมื่อแอนซึ่งเติบโตในชุมชนอามิชเมืองแก็ป รัฐเพลซิลเวเนีย เริ่มต้นชีวิตคู่กับ โจนาส ไบเลอร์ โศกนาฏกรรมในชีวิตมาเยือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันทำให้เธอสูญเสียลูกสาววัยเกือบ 2 ขวบ แอนจมจ่อมอยู่กับความโศกเศร้าเป็นเวลากว่า 12 ปี จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ชีวิตคู่เกือบพังทลาย สุดท้ายเธอตัดสินใจกระทำบางอย่าง นั่นคือ การเช่าแผงในตลาดชุมชนเพื่อขายอาหาร จุดประสงค์หลักเพื่อหารายได้มาสนับสนุนโจนาสในการก่อตั้ง Family Resource and Counseling Center (FRCC) อันเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้มีปัญหาครอบครัว

แอนซึ่งมีความรู้น้อยเคยเป็นลูกจ้างร้านอาหารในตลาดมาก่อน ได้ครูพักลักจำเรียนรู้วิธีการทำเพรทเซลโบราณเนื้อเหนียวนุ่มในปี พ.ศ.2531 เธอควักทุน 6,000 ดอลลาร์ฯ เปิดแผงขายพิซซ่า มันฝรั่งทอด และเพรทเซล สัปดาห์แรกได้รับเสียงวิจารณ์จากลูกค้าว่าเพรทเซลรสชาติแย่มาก เธอท้อใจเกือบจะเปลี่ยนไปขายอย่างอื่น แต่โจนาสได้ช่วยหาสูตรและปรับรสชาติจนลงตัว หลังจากนั้น เพรทเซลสูตรใหม่ก็กลายเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในร้าน เรียกว่าอร่อยจนลูกค้าต้องบอกกันปากต่อปาก จนสุดท้ายแอนเลิกขายพิซซ่าแล้วหันมาขายเพรทเซลอย่างเดียว โดยนวดแป้งสดๆ ให้ลูกค้าเห็นและอบไปขายไป

แอนไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ เปิดแผงขายขนมได้ปีเดียวก็สามารถขยายไป 8 สาขา รวมถึงการเปิดร้านในศูนย์การค้าเป็นครั้งแรก

2 ปีต่อมา ธุรกิจของแอนขยายไปยังรัฐอื่น รวม 9 รัฐ และเธอเริ่มใช้กลยุทธ์เข้าไปแฝงตามสนามบิน และสถานีรถไฟ ก่อนรุกไปยังตลาดต่างประเทศที่อินโดนีเซียเป็นจุดแรก ช่วงแรกของการขายเฟรนไชส์ แอนและโจนาสประสบปัญหาอันเนื่องมาจากการทำสัญญาหละหลวมทำให้ผู้ซื้อเฟรนไชส์ไม่จ่ายค่าลิขสิทธ์แถมยังหนีไปพร้อมสูตรขนม แอนและโจนาสจึงได้ปรับเปลี่ยนให้สัญญารัดกุมขึ้น และจ้างทนายความดูแลเรื่องนี้

ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นยุครุ่งเรืองของ Auntie Anne’s เพราะได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการทั่วทุกมุมโลกที่สนใจซื้นเฟรนไชส์เฉพาะปี 2535 ปีเดียว Auntie Anne’s ขยายเพิ่มอีก 50 สาขารวดผ่านเฟรนไชส์

หากจะพูดถึงกลยุทธ์การตลาด เราอาจเคยได้ยินทฤษฎี 4P ที่ประกอบด้วย Product, Place, Price และ Promotion แต่สำหรับแอนแล้ว สิ่งที่ผลักดันให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จมาจาก 3P ได้แก่

1. Purpose
ในการทำธุรกิจไม่ว่าอะไรก็ตาม ต้องมีเป้าหมายชัดเจน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ธุรกิจอาจประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม หรือล้มเหลวไม่เป็นท่า หากมีจุดมุ่งหมายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ก็จะทำให้เราก้าวเดินต่อไปไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด ดังเช่นแอนที่เริ่มธุรกิจเพราะต้องการตั้งมูลนิธิเพื่อทำประโยชน์ในสังคม เธอยึดมั่นความฝันนี้มาตลอดจนสามารถก่อสร้างศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีปัญหาครอบครัว หรือ FRCC ได้ตามเจตนารมณ์

2. Product
ความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นหากปราศจากซึ่งผลิตภัณฑ์คุณภาพและเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค หากสินค้าดีจริง กระแสของมวลมหาชนจะเป็นสิ่งพิสูจน์เอง ดังจะเห็นจากการต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อ หรือเมื่อลูกค้าซื้อสินค้า/บริการไปแล้ว เกิดความรู้สึกอยากซื้อเฟรนไชส์ขึ้นมาทันที ดังนั้น จงค้นหาให้ได้ว่าสินค้าที่ “ดีเสียยิ่งกว่าดี” (Better than the Best) ที่อยากนำเสนอคืออะไร

3. People
การมีทีมที่ดีเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ธุรกิจเติบโต เริ่มจากพนักงานในบริษัทที่แม้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่ก็ต้องทำงานเป็นและเข้าใจวัฒนธรรมและปรัชญาองค์กรไปจนถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้ซื้อเฟรนไชส์บางรายอยู่กับ Auntie Anne’s มาตั้งแต่แรกจนมีร้านในการดูแลเจ้าเดียว 55 สาขาก็มี แบรนด์จะเติบโตและแข็งแกร่งจึงเกิดจากทีมงานที่ดีด้วย

แอนกล่าวว่า หากมี 3P ข้างต้นครบ P ตัวที่ 4 คือ Profit จะตามมาแน่นอน แม้จะล้างมือในอ่างทองคำไปแล้วและหันไปทุ่มเทให้กับงานด้านจิตอาสาเป็นหลัก โดยธุรกิจ Auntie Anne’s ในปัจจุบันตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทโฟกัส แบรนด์ Auntie Anne’s เมื่อใด ชื่อแอน ไบเลอร์ ก็ยังติดอยู่ในความทรงจำของลูกค้าผู้ภักดีต่อขนมเพรทเซลของเธอทุกครั้งไป

ที่มา www.maruey.com
Share on Google Plus

About Admin

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments :

Post a Comment